(17 สิงหาคม 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน “ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ” (Thailand Education Eco-System) โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนการศึกษาไทย ณ ห้อง Auditorium อาคารทรู ดิจิทัล ปาร์ค กรุงเทพฯ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า สถานการณ์โลกปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงด้านการศึกษา จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีหนึ่งยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญในการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคนทุกมิติ ทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ มีหลักคิดที่ถูกต้อง เป็นพลเมืองดี ที่สำคัญต้องมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิ มีทักษะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 ได้ดี เป็นต้น
การที่จะพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวมให้ดีขึ้น อีกทั้งสถานศึกษาโรงเรียนขนาดใหญ่ต้องแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กอีกด้วย
ดังนั้น การศึกษายกกำลังสองจะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะสนับสนุนแนวทาง วิธีการ องค์ความรู้ เพื่อให้เด็กไทยมีศักยภาพ มีความพร้อมและเป็นที่ต้องการของตลาดงาน (สังคมการทำงาน) อีกทั้ง ศธ.ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการสอนที่ได้มาตรฐาน มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีทางการศึกษา รวมทั้งปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การวัดประเมินผลการเรียน และการวัดประเมินผลการสอนของครูทั่วประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพครูอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคคล สู่ความเป็นเลิศตามบริบทในแบบนักเรียนแต่ละคนต้องการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในเรื่องมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนทั่วประเทศยังไม่เท่าเทียมกัน ศธ.จึงต้องเร่งพัฒนาพื้นฐานของนักเรียนในระดับเดียวกันให้เท่าหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ไม่ใช่จะผลักภาระให้ ศธ.หน่วยงานเดียว ทุกคนทุกหน่วยงานต้องรับผิดชอบในการสร้างเยาวชนให้มีศักยภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะในอนาคตอันใกล้เยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า มีความสามารถพัฒนาประเทศได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในปัจจุบันหล่อหลอม
อ่านข่าวเพิ่มเติม >>>คลิก<<<